บทนำ
โครงการภาวะผู้นำทางวิชาการประเทศไทยได้รับการจัดตั้งขึ้น
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาของไทย
ด้วยการนำองค์ความรู้ที่ทันสมัยเกี่ยวกับภาวะผู้นำโรงเรียนมาให้ความรู้กับนักการศึกษาของไทย
โครงการซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิเอเชีย
มีการนำเสนอสาระการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบวิดีโอ
เสียง และสิ่งพิมพ์ เกี่ยวกับภาวะผู้นำและการบริหารโรงเรียน
โดยเน้นไปที่ภาวะผู้นำทางวิชาการเป็นหลัก
ชุดบทเรียนหัวข้อภาวะผู้นำทางวิชาการนี้ ซึ่งแต่งโดยศาสตราจารย์
ฟิลลิป ฮาริงเจอร์ ถือเป็นสาระการเรียนรู้หลักของชุดการเรียนรู้นี้
ชุดบทเรียนจะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย
ที่จะแสดงให้เห็นว่าเพราะเหตุใดภาวะผู้นำทางวิชาการจึงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน
ภาวะผู้นำทางวิชาการคืออะไร
และภาวะผู้นำทางวิชาการมีการปฏิบัติอย่างไรในโรงเรียน
โดยองค์ความรู้เหล่านี้มีฐานมาจากงานวิจัยและการปฏิบัติจากทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย
ดร.ฟิลลิป ฮาริงเจอร์ เป็นศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยการจัดการ
มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นศาสตราจารย์พิศิษฐ์อาคันตุกะ (Distinguished
visiting professor)
ของพรรควิชาภาวะผู้นำและการจัดการทางการศึกษามหาวิทยาลัยโยฮันเนสเบิร์ก
ประเทศแอฟริกาใต้ ศาสตราจารย์ ฟิลลิป ฮาริงเจอร์ ได้นำประสบการณ์กว่า
50 ปี
ในฐานะครูและผู้บริหารโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากสหรัฐอเมริกา
นักวิจัยและผู้สอนในมหาวิทยาลัยทั้งในสหรัฐอเมริกาจีนและไทย
รวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
มาใช้ในการถ่ายทอดในชุดบทเรียนนี้
ข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในชุดบทเรียนนี้มาจากทั้งงานวิจัยที่ศาสตราจารย์ฟิลลิป
ฮาริงเจอร์ ได้ทำเกี่ยวกับภาวะผู้นำทางวิชาการตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ
1980s
ผลการวิจัยจากทั่วโลกตลอดจนประสบการณ์ของอาจารย์ในฐานะครูและผู้บริหารการศึกษาในประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ฟิลลิป ฮาริงเจอร์อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 30 ปี
สามารถพูดไทยได้
และได้เคยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านภาวะผู้นำโรงเรียนให้กับครูและผู้บริหารกว่า
15,000 คน
ศาสตราจารย์ ฟิลลิป ฮาริงเจอร์ ได้รับฉายาว่าเป็น
บิดาแห่งภาวะผู้นำทางวิชาการ
เนื่องจากท่านมีผลงานที่เป็นแบบฉบับในการสร้างกรอบแนวคิดบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียนในบทความวิจัยเรื่อง
Assessing the Instructional Management Behavior of the Principal”
(Hallinger & Murphy, 1985)
ซึ่งกรอบแนวคิดการวิจัยดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียนในงานวิจัยมากกว่า
1000 เรื่องใน 35 ประเทศทั่วโลก
ข้อค้นพบดังกล่าวตลอดจนงานวิจัยอื่นๆที่นำโมเดลของศาสตราจารย์ ฟิลลิป
ฮาริงเจอร์ ไปใช้
นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับบทบาท
ความรับผิดชอบ การเตรียมและพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วโลก
ศาสตราจารย์ ฟิลลิป ฮาริงเจอร์
ได้รับอิทธิพลทางความคิดที่นำมาสู่การพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำทางวิชาการ
จากที่ปรึกษาของเขา คือ ศาสตราจารย์ เอดวิน บริจเจส
โดยเฉพาะบทความเรื่อง “Instructional leadership: A concept
re‐examined” (Bridges, 1967).
Bridges, E. M. (1967). Instructional leadership: A concept
re‐examined. Journal of Educational Administration, 5(2), 136-147.
Hallinger, P., & Murphy, J. (1985). Assessing the instructional
management behavior of principals. The elementary school journal,
86(2), 217-247.
ความเป็นมา

ในทั่วทุกมุมโลกเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนเดินเข้าไปในโรงเรียนพวกเขาจะรู้สึกถึงบรรยากาศและให้ข้อสรุปในใจเกี่ยวกับคุณภาพของโรงเรียนนั้น
โรงเรียนที่สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือไม่?
โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยหรือไม่?
ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสหรือไม่?
ครูบุคลากรและนักเรียนดูจากจดจ่อกับสิ่งที่ทำอย่างตั้งใจหรือไม่?
โรงเรียนดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนหรือไม่?
หนึ่งในสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะให้ข้อสรุปในใจคือ ‘โรงเรียนดี’
จะมี ‘ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ดี’ (Grobman & Hines, 1956) ถึงกระนั้น
โรงเรียนดีได้เป็นเพราะมีผู้อำนวยการโรงเรียน
หรือผู้อำนวยการโรงเรียนดูเหมือนประสบผลสำเร็จเพราะปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนที่ดี?
ความสำคัญของคำถามนี้นำไปสู่การทำวิจัยทั่วโลกในช่วงหลาย 10
ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการค้นหาว่าอะไรทำให้ ‘โรงเรียนดี’ ?
หนึ่งในข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้คือความสำเร็จของธุรกิจมักจะมีความเกี่ยวข้องกับภูมิหลังของนักเรียนที่มาเรียนในโรงเรียน
โรงเรียนที่ให้บริการทางการศึกษากับนักเรียนที่มาจากกลุ่มสังคมชั้นกลางและสูงกว่ามักจะมีข้อได้เปรียบ
นักเรียนเหล่านี้มาโรงเรียนด้วย ‘ความได้เปรียบ’
จากความพร้อมทางการเงิน (เช่น การได้รับการสอนเสริม)
อุปกรณ์การเรียนรู้ (เช่น หนังสือและคอมพิวเตอร์)
และทรัพยากรทางมนุษย์ (เช่น ระดับการศึกษาของพ่อแม่ ความคาดหวัง
และการสนับสนุน) ‘ความได้เปรียบ’
เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปตลอดหลายปีที่พ่อแม่ยังคงให้การสนับสนุนที่สำคัญโดยตรงต่อการเรียนรู้ของบุตรหลาน
ในทางตรงกันข้าม
โรงเรียนที่จัดการศึกษาให้กับนักเรียนจำนวนมากที่มาจากครอบครัวที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการศึกษา
และขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองในการเรียนรู้
มัจฉะประเชิญหน้ากับความท้าทายที่แตกต่างกันอย่างมากในการที่จะได้ชื่อว่าเป็น
‘โรงเรียนดี’
ถ้าโรงเรียนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เปลี่ยนไปตามนโยบายและกฎระเบียบ
นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ก็จะเริ่มต้นการเรียนอย่างเสียเปรียบนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ
ทั้งยังคงอยู่ในสถานะเสียเปรียบของการเรียนในแต่ละปีที่ผ่านไป
โรงเรียนที่จัดการศึกษาให้นักเรียนกลุ่มนี้จะต้องพยายามมากขึ้นที่จะช่วยให้นักเรียนประสบผลสำเร็จทางการเรียน
ภายใต้ความขาดแคลนของทรัพยากรในโรงเรียนและการสนับสนุนจากครอบครัว
การตระหนักถึงความท้าทายเหล่านี้ส่งผลให้นักวิจัยพยายามศึกษาและเรียนรู้จากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้
(Edmonds, 1979)
โรงเรียนเหล่านี้ได้ค้นพบแนวทางที่จะทำให้นักเรียนทุกคนเรียนรู้และประสบความสำเร็จตามศักยภาพของตน
โรงเรียนเหล่านี้จึงได้รับการขนานนามว่า
‘โรงเรียนที่มีประสิทธิผลทางวิชาการ’ (Purkey & Smith, 1983)
นักวิจัยพบว่าโรงเรียนที่มีประสิทธิผลทางวิชาการ
มักจะมีผู้อำนวยการโรงเรียนที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าบทบาทพื้นฐานของ
‘ผู้บริหารโรงเรียน’
ในขณะที่พวกเขายังทำหน้าที่รับผิดชอบทางการบริหาร
พวกเขายังทำหน้าที่เป็นผู้นำทางวิชาการ (Edmonds, 1979)
คุณลักษณะเด่น 2
ประการจากผลการวิจัยเกี่ยวกับผู้อำนวยการโรงเรียนในโรงเรียนที่มีประสิทธิผลทางวิชาการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำทางวิชาการ
คือ
ประการแรก ในฐานะผู้นำทางวิชาการ
พวกเขายอมรับหน้าที่รับผิดชอบสำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียน
พวกเขาตั้งความคาดหวังและมาตรฐานในระดับที่สูงสำหรับนักเรียนแม้จะมีสถานการณ์ที่ท้าทาย
พวกเขาเชื่อว่านักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้และไม่ยอมที่จะโทษว่าความล้มเหลวทางการเรียนของนักเรียนเกิดจากภูมิหลังของนักเรียน
นอกจากนี้พวกเขายังปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างในการตั้งความคาดหวังที่สูงในการมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งครูและนักเรียน
ประการที่สอง
พวกเขาไม่ยกให้การจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของครูแต่ฝ่ายเดียว
พวกเขาทำงานร่วมกับครูอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ ในฐานะผู้นำทางวิชาการ
พวกเขาสร้างวิสัยทัศน์ของการเรียนรู้ สื่อสารความคาดหวังที่สูง
พวกเขาทำตนเป็นตัวอย่างทั้งในการปฏิบัติและการตัดสินใจ ชี้แนะครู
และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้สำหรับทั้งครูและนักเรียน
ภาวะผู้นำทางวิชาการ จึงได้รับการนิยามว่า
กรอบความคิดและการปฏิบัติที่ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้นำโรงเรียนคนอื่นๆใช้ในการกระตุ้นและสนับสนุนความสามารถของครูในการเรียนรู้และการสอนเพื่อความสำเร็จของนักเรียนทุกคนในโรงเรียน
ในบทเรียนนี้
ผู้เขียนจะนิยามความหมายของภาวะผู้นำทางวิชาการโดยใช้กรอบความคิดที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก
กรอบแนวคิดนี้ได้รับการนำเสนอในช่วงต้นของชุดการเรียนรู้นี้
แต่ในบทเรียนนี้จะเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก
กรอบแนวคิดสำหรับภาวะผู้นำทางวิชาการ

รูปแบบภาวะผู้นำทางวิชาการที่ได้รับการนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดได้รับการพัฒนาเมื่อ
40 ปีที่แล้วในสหรัฐอเมริกา โดย Philip Hallinger และ Joseph Murphy
(1985) ประกอบด้วย 3 มิติหลักในบทบาทนี้:
การกำหนดพันธกิจทางวิชาการของโรงเรียน
การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
และการพัฒนาบรรยากาศการเรียนรู้เชิงบวกของโรงเรียน
หลายสิบปีที่ผ่านมา
รูปแบบนี้ได้มีการนำไปใช้ศึกษาอย่างกว้างขวางและยืนยันในแง่ของการปฏิบัติของผู้อำนวยการโรงเรียนในฐานะผู้นำทางวิชาการที่ส่งผลเชิงบวกต่อประสิทธิผลทางการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียน
(Hallinger & Heck, 1996; Hallinger & Wang, 2015)
รูปแบบนี้ได้กลายเป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญในการปรับคำนิยามของบทบาทของผู้บริการในหลายประเทศเช่น
สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน อิสราเอล ชิลี ตุรกี มาเลเซีย
และประเทศอื่น ๆ
การกำหนดพันธกิจทางวิชาการของโรงเรียน - การกำหนดเป้าหมายของโรงเรียน
- การสื่อสารเป้าหมายของโรงเรียน
การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน - การประสานงานหลักสูตร
- การนิเทศและประเมินการสอน
- การติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน
การพัฒนาบรรยากาศการเรียนรู้เชิงบวกของโรงเรียน - การพิทักษ์เวลาการเรียนการสอน
- การสร้างแรงจูงใจสำหรับครู
- การสร้างแรงจูงใจสำหรับการเรียนรู้
- การส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาชีพ
- การปรากฏตัวให้เห็นบ่อยครั้งในโรงเรียน
(Hallinger & Murphy, 1985)
การระบุพันธกิจทางวิชาการสำหรับโรงเรียน
การสังเคราะห์งานวิจัยที่เป็นที่รู้จักที่ศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลภาวะผู้นำของโรงเรียนที่ศึกษาอยู่ในช่วงทศวรรษ
1990s โดย Hallinger and Heck (1996)
ได้ระบุวิสัยทัศน์และเป้าหมายว่าเป็นเครื่องมือที่มีผลกระทบสูงสุดที่ผู้นำโรงเรียนใช้ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้
ไม่นานมานี้ การวิจัยอภิมานของอิทธิพลภาวะผู้นำโรงเรียน Robinson
และคณะ (2008) ได้ยืนยันข้อสรุปดังกล่าว ในงานดังกล่าว ระบุว่า
วิสัยทัศน์และเป้าหมายเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลมากเป็นอันดับ 2
ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนใช้ในการยกระดับการเรียนรู้ในห้องเรียน
วิสัยทัศน์หมายถึงภาพกว้างของทิศทางที่โรงเรียนจะเดินทางไปข้างหน้า
(เช่น การจัดการศึกษาแบบองค์รวมกับเด็ก การพัฒนาโรงเรียนที่ยั่งยืน)
ในทางตรงข้าม เป้าหมายหมายถึง
เป้าหมายเฉพาะที่จำเป็นต้องบรรลุผลเพื่อให้เดินทางไปถึงวิสัยทัศน์นั้น
(Hallinger & Heck, 2002)
มิติด้านการกำหนดพันธกิจทางวิชาการ ประกอบด้วย 2 ภารกิจคือ
การกำหนดเป้าหมายของโรงเรียน และการสื่อสารเป้าหมายของโรงเรียน
ภารกิจทั้งสองเกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียนในการทำงานร่วมกับบุคลากรเพื่อสร้างความมั่นใจว่าโรงเรียนมีพันธกิจที่ชัดเจนและพันธกิจนั้นมุ่งเน้นไปที่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน
ถึงแม้ว่ามิตินี้จะไม่ได้สมมุติว่าผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องเป็นผู้กำหนดพันธกิจของโรงเรียนแต่ผู้เดียว
มิตินี้เสนอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องรับผิดชอบในการสร้างความมั่นใจว่าจะต้องมีการกำหนดพันธกิจดังกล่าวให้เกิดขึ้นและทำการสื่อสารให้บุคลากรทุกคนทราบ
มิตินี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโรงเรียนที่เน้นผู้เรียนรู้เป็นศูนย์กลาง

การกำหนดเป้าหมายโรงเรียน
วิสัยทัศน์และเป้าหมายสร้างผลกระทบผ่านกระบวนการ 2 ประการ (Hallinger
& Heck, 2002) ประการแรก
วิสัยทัศน์และเป้าหมายสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนร่วมแรงเสียสละกำลังและเวลาเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
พลังในการสร้างแรงจูงใจของวิสัยทัศน์นี้ได้รับการเน้นย้ำในทฤษฎีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
เมื่อผู้คนร่วมมือในความพยายามร่วมกันที่จะบรรลุเป้าหมายที่มีคุณค่าแต่ท้าทาย
พวกเขาจะค้นพบปณิธานใหม่และบรรลุผลสำเร็จที่เหนือกว่าเดิม
เป้าหมายยังมีผลต่อผลการปฏิบัติงานด้วยการจำกัดความสนใจของบุคลากรให้อยู่ในขอบเขตของกิจกรรมที่แคบลง
เป้าหมายที่ถูกกำหนดอย่างชัดเจนจะสร้างพื้นฐานในการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคน
การจัดสรรทรัพยากร และการน้อมนำโครงการ
เป้าหมายจะช่วยให้เข้าใจในสิ่งที่ต้องทำและสิ่งที่ไม่ต้องทำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในทุกวันนี้เป้าหมายมักถูกวัดโดยตัวชี้วัด หรือ Key performance
indicators (KPIs)
ซึ่งจะกำหนดความก้าวหน้าและความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมาย
โรงเรียนที่มีประสิทธิผลทางวิชาการจะมีการระบุพันธกิจที่ชัดเจนหรือชุดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน
การมุ่งเน้นจะอยู่ที่จำนวนเป้าหมายน้อยลงที่จะใช้การระดมกำลังคนและทรัพยากรต่าง
ๆ ของโรงเรียน
การกำหนดวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกันไม่มากนักและแต่ละวัตถุประสงค์อยู่ภายใต้ขอบเขตที่บริหารจัดการได้
มักจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
เป้าหมายควรจะรวบเอาข้อมูลของผลการเรียนรู้ของนักเรียนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
และควรระบุความรับผิดชอบของบุคลากรในการบรรลุเป้าหมาย
เป้าหมายของผลการปฏิบัติงานคุณสุขกำหนดให้เป็นหน่วยที่วัดค่าได้เพื่อที่จะใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับวัดความก้าวหน้าและใช้เป็นร่องรอยหลักฐานสำหรับภาระรับผิดชอบ

การสื่อสารเป้าหมายของโรงเรียน
ภารกิจด้านนี้เกี่ยวข้องกับวิธีการที่ผู้อำนวยการจะสื่อสารเป้าหมายของโรงเรียนให้กับครู
ผู้ปกครอง และนักเรียน
ผู้อำนวยการโรงเรียนสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมายของโรงเรียนได้ด้วยการอภิปรายและพิจารณาเป้าหมายร่วมกันกับบุคลากรเป็นระยะในแต่ละปีการศึกษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดสินใจด้านการจัดการเรียนการสอน หลักสูตร
และงบประมาณ
โดยผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถใช้ช่องทางการสื่อสารทั้งแบบเป็นทางการ
(เช่น แถลงการณ์เป้าหมาย บอร์ดประกาศสำหรับบุคลากร
บทความในจุลสารของผู้อำนวยการหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน
คู่มือโรงเรียน) และแบบไม่เป็นทางการ (เช่น การประชุมผู้ปกครอง
การประชุมครู การประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตร การประชุมทั่วไป)
ในการสื่อสารเป้าหมายหลักของโรงเรียน
บทบาทของผู้นำทางวิชาการในการกำหนดพันธกิจของโรงเรียนได้ถูกกล่าวถึงในงานวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนประถมศึกษาที่มีประสิทธิผลในรัฐแคลิฟอร์เนีย
โดย Hallinger และ Murphy (1986) ในงานวิจัยดังกล่าว
ผู้วิจัยได้สังเกตการครูในห้องเรียนเป็นเวลาหลายวัน
ครูคนหนึ่งจัดมุมการเรียนรู้กิจกรรมจิตพิสัย ชื่อว่า “ฉันคือ…”
ที่หลังห้อง อย่างไรก็ดี
นักวิจัยกลับไม่พบว่านักเรียนได้ทำกิจกรรมดังกล่าว (หน้า 339)
เมื่อได้รับการสอบถาม ครูกล่าวว่า:
ใช่ค่ะ
มุมการเรียนรู้กิจกรรมจิตพิสัยเป็นกิจกรรมที่ฉันชอบใช้กับนักเรียน
แต่ในห้องเรียนนี้นักเรียนค่อนข้างตามไม่ทันในวิชาพื้นฐาน
ฉันเลยต้องลดเวลาในกิจกรรมนั้น
จุดเน้นของโรงเรียนคือการทำให้มั่นใจว่านักเรียนทุกคนของเรามีความเข้าใจในวิชาพื้นฐานอย่างดี
เราพยายามในการให้เวลากับวิชาเลือกเช่นเดียวกันแต่ผู้อำนวยการของเราคาดหวังให้เราใช้เวลาให้มากกลับการอ่าน
การเขียน การสะกดคำ และคณิตศาสตร์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ดังนั้นฉันจึงต้องปรับกิจกรรมการเรียนรู้ (Hallinger & Murphy,
1986, p. 339)
ต่อมา จากการสัมภาษณ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนได้กล่าวถึงความคาดหวังที่ตรงกันกับข้อความที่ครูกล่าวมาข้างต้น
จะเห็นได้ว่านี่เป็นสิ่งที่ผู้อำนวยการได้ทำการปรึกษาหารือกับบุคลากรหลายครั้ง
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะหลายประการของบทบาทผู้นำทางวิชาการในการกำหนดพันธกิจที่ชัดเจน
1) พันธกิจของโรงเรียนนี้มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน
สามารถพบเห็นได้ทั่วโรงเรียน 2)
พันธกิจดังกล่าวมุ่งเน้นที่การพัฒนาการทางวิชาการที่เหมาะสมกับความต้องการจำเป็นของกลุ่มผู้เรียนเฉพาะของโรงเรียน
3) พันธกิจกำหนดลำดับความสำคัญของงานของครู และ 4)
ครูทุกคนรับทราบและยอมรับในพันธกิจดังกล่าว
ในอีกกรณีศึกษาหนึ่ง ในปี 2000
ผู้เขียนได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ตั้งวิสัยทัศน์ไว้ว่า
เน้น ‘การเรียนรู้เฉพาะบุคคล’ สำหรับผู้เรียน
วิสัยทัศน์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในแผ่นพับของวิทยาลัย
ในการประชุมผู้ปกครองและนักศึกษา และบนเว็บไซต์ของวิทยาลัย
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า
วิสัยทัศน์ดังกล่าวไม่ได้รับการสื่อสารหรือนำไปปฏิบัติโดยผู้จัดการ
คณาจารย์และบุคลากร ซึ่งสะท้อนอยู่ในการจัดห้องเรียน หลักสูตร
และการใช้รูปแบบการสอนแบบบรรยายอย่างแพร่หลาย
แม้ว่าขนาดของชั้นเรียนจะมีนักศึกษาไม่เกิน 30 คนก็ตาม
เมื่อเวลาผ่านไป
ผู้เขียนได้ทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารในการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่คือ
‘การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ’ ที่นำเอา
‘การเรียนรู้ในการนำองค์ความรู้ไปใช้’ มาเป็นแกนกลางของวิทยาลัย
วิสัยทัศน์ดังกล่าวถูกใช้ในการชี้นำการตัดสินใจ การปรับปรุงหลักสูตร
การจัดสรรทรัพยากร การออกแบบห้องเรียน การจัดกำลังคน
การคัดสรรหัวข้อสำหรับการพัฒนาทางวิชาชีพ และแนวทางในการประเมิน
ได้มีการแต่งตั้งทีมภาวะผู้นำทางวิชาการเพื่อสนับสนุนความพยายามของคณาจารย์ในการเรียนรู้และนำนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบไปใช้
เช่น รูปแบบการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐานในหลักสูตร
การใช้รูบลิคในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา
และการบูรณาการใช้สื่อที่หลากหลายในการสอน
การใช้การพัฒนาและการให้คำปรึกษาทางวิชาชีพร่วมกับการประเมินผลการสอนที่มีข้อมูลเป็นฐานเป็นแนวทางในการสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนการพัฒนาคณาจารย์
การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
มิติที่สอง
การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นไปที่การประสานงานและการควบคุมการจัดการการสอนและหลักสูตรนำเอาหน้าที่ภาวะผู้นำ
3 ประการมาประกอบกัน:
- การนิเทศและประเมินการสอน
- การประสานงานหลักสูตร
- การติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน
มิตินี้มุ่งเน้นไปที่บทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียนในการบริหาร
“หลักทางเทคนิค”ของโรงเรียน ในโรงเรียนขนาดใหญ่
ผู้อำนวยการโรงเรียนมักจะไม่ใช่ผู้ที่จะเกี่ยวข้องกับการติดตามและการพัฒนาโปรแกรมการเรียนการสอนของโรงเรียนแต่ผู้เดียว
แต่กรอบความคิดนี้ตั้งข้อสมมุติว่า
การประสานงานและการควบคุมโปรแกรมทางวิชาการของโรงเรียนยังคงเป็นความรับผิดชอบภาวะผู้นำหลักของผู้อำนวยการโรงเรียน
ถึงแม้ว่าภาระหน้าที่บางอย่างจะถูกมอบหมายไปให้กับผู้อื่นได้ก็ตาม
มิตินี้จำเป็นที่ผู้อำนวยการและผู้นำคนอื่นๆในโรงเรียนจะต้องมีความยึดมั่นผูกพันในการสร้างแรงจูงใจ
นิเทศ และกำกับติดตามการสอนและการเรียนรู้ในโรงเรียน
ถึงแม้ว่าข้อจำกัดด้านเวลาอาจจะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในด้านนี้ของผู้อำนวยการโรงเรียน
งานด้านนี้ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างและการกำหนดหน้าที่ของทีมภาวะผู้นำเพื่อให้มั่นใจว่างานจะดำเนินการจนสำเร็จ
ไม่แท้จริงแล้ว
ภาระงานในด้านนี้จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้อำนวยการโรงเรียนในด้านการสอนและการเรียนรู้
รวมทั้งความมุ่งมั่นในการพัฒนาโรงเรียน
มิติในด้านนี้เองที่ผู้อำนวยการโรงเรียนจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับโปรแกรมการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างลึกซึ้ง

การนิเทศและประเมินการสอน
หัวใจของงานของผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างหนึ่งคือ
การทำให้มั่นใจว่าเป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนดขึ้นกำลังได้รับการปฏิบัติในระดับห้องเรียน
ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประสานเชื่อมโยงเป้าหมายในห้องเรียนของครูกับเป้าหมายของโรงเรียน
และการประเมินการสอนในชั้นเรียน นอกจากนี้
ยังรวมถึงการให้การสนับสนุนทางการจัดการเรียนการสอนกับครูและการกำกับติดตามการสอนในชั้นเรียนด้วยการเยี่ยมห้องเรียนทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการของผู้อำนวยการโรงเรียนและบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการเรียนการสอน
ภาระงานด้านนี้ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ กว่า 10 ปีที่ผ่านมา
งานการประเมินครูของผู้อำนวยการโรงเรียนได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แต่ยังมีผลงานวิจัยไม่มากนักที่ให้การสนับสนุนอิทธิพลของงานด้านนี้ต่อคุณภาพการสอนและการเรียนรู้
อย่างไรก็ดี ภายในกรอบแนวคิดภาวะผู้นำ ทางวิชาการนี้
ภาระงานด้านนี้ยังคงเน้นที่การพัฒนาความสามารถทางการสอนของครูมากกว่าการประเมินครูอย่างเป็นทางการ
ซึ่งสอดคล้องกับเทรนของการเน้นไปที่
การนิเทศแบบเพื่อนช่วยเพื่อนของครู (peer coaching)
ในแง่ของการสนับสนุนการเรียนรู้ของครูภายในชั้นเรียน
จากข้อจำกัดด้านเวลาของผู้อำนวยการโรงเรียน การชี้แนะ (coaching)
ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการปฏิบัติภาวะผู้นำทางวิชาการที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถมอบอำนาจให้กับผู้นำครูนำไปปฏิบัติได้
อย่างไรก็ดี
การมอบอำนาจให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยภาวะผู้นำในการพัฒนาความสามารถของครูในการชี้แนะอย่างสัมฤทธิ์ผล
ในวิทยาลัยที่ผู้เขียนปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้น
สมาชิกของทีมภาวะผู้นำทางวิชาการจัดประชุมร่วมกับอาจารย์เป็นรายบุคคลในช่วงต้นและช่วงปลายของปีการศึกษา
ในการประชุมช่วงต้นปี
อาจารย์จะนำเสนอเป้าหมายสำหรับการพัฒนาและการปฏิบัติงานในปีที่กำลังจะมาถึง
ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาทางวิชาชีพอีกทั้งของบุคคลและของคณาจารย์
รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานในปีการศึกษานั้น
ในการประชุมช่วงปลายปี
ผู้นำทางวิชาการจัดประชุมร่วมกับอาจารย์อีกครั้งเพื่อพิจารณาความสำเร็จและผลการปฏิบัติงานในรอบปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่า การประชุมเหล่านี้จะใช้เวลาอย่างมาก
แต่แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้นำทางวิชาการของวิทยาลัยที่มีต่อสิ่งที่อาจารย์ต้องการบรรลุผลในบทบาททางวิชาชีพ
ยิ่งไปกว่านั้น
ยังทำให้ได้รับข้อมูลที่สำคัญในการให้การสนับสนุนอาจารย์เป็นรายบุคคลและทั้งองค์คณะ.
การประสานงานหลักสูตร
หนึ่งในคุณลักษณะที่โดดเด่นของโรงเรียนที่มีประสิทธิผลทางวิชาการคือ
การประสานงานหลักสูตรที่ดีเยี่ยมของผู้อำนวยการโรงเรียนและทีมภาวะผู้นำทางวิชาการ
เป้าหมายทางหลักสูตรของโรงเรียนจะมีความสอดคล้องอย่างใกล้ชิดกับเนื้อหาที่สอนในชั้นเรียนและข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ใช้ในโรงเรียน
มิติด้านนี้ของการประสานงานหลักสูตรยังสามารถสังเกตได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูทั้งภายในระดับชั้นเดียวกันและข้ามระดับชั้นเกี่ยวกับประเด็นด้านการจัดการเรียนการสอนและ/หรือด้านหลักสูตร
ในขณะเดียวกัน
งานวิจัยยังพบว่าผู้อำนวยการโรงเรียนในกลุ่มประเทศที่มีหลักสูตรแบบรวมศูนย์ระดับสูง
มักจะมีความเกี่ยวข้องในการประสานงานหลักสูตรน้อยกว่ามาก (เช่น
ประเทศไทย ตุรกี ชิลี อิหร่าน จีน)
นี่เป็นสถานการณ์ที่ปรากฎในประเทศไทยในอดีต
แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในประเทศไทยได้สร้างความคาดหวังใหม่ว่า
โรงเรียนจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในมิติด้านนี้ด้วยการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
และคาดว่าผู้อำนวยการโรงเรียนไทยจะให้ความสำคัญกับภาระงานภาวะผู้นำทางวิชาการในมิตินี้มากยิ่งขึ้น

การติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน
โรงเรียนที่มีประสิทธิผลทางวิชาการจะให้ความสำคัญอย่างมากกับการทดสอบวัดผลทั้งแบบอิงเกณฑ์และอิงกลุ่ม
การทดสอบนี้ถูกใช้ในการวินิจฉัยปัญหาของหลักสูตรและของผู้เรียน
การประเมินผลของการเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน
และใช้ช่วยในการมอบหมายงานในชั้นเรียน
ผู้อำนวยการโรงเรียนมีบทบาทที่สำคัญในด้านนี้หลายประการ
ทั้งในด้านการให้ผลการทดสอบกับครูที่เป็นประโยชน์และในเวลาที่เหมาะสม
การอภิปรายผลการทดสอบกับบุคลากรทุกคน กับคณะครูในระดับชั้น
และครูรายบุคคล
และให้การแปลผลการวิเคราะห์สำหรับครูที่ระบุรายละเอียดข้อมูลการทดสอบที่เกี่ยวข้องในรูปแบบที่ชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น
ในโรงเรียนที่มีประสิทธิผลทางวิชาการที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้
ระหว่างการประชุมอภิปรายถึงวิธีที่จะติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน
ครูหลายคนในโรงเรียนสังเกตว่าผู้อำนวยการโรงเรียน
“ทราบถึงระดับความสามารถในการอ่านและความก้าวหน้าของนักเรียนกว่า 650
คนในโรงเรียนประถมศึกษา” (Hallinger & Murphy, 1986)
ถึงแม้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้จำเป็นสำหรับภาวะผู้นำทางวิชาการ
แต่สะท้อนให้เห็นถึงระดับของการมีส่วนร่วมของผู้อำนวยการโรงเรียนในการติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนและในการบริหารโปรแกรมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน
การพัฒนาบรรยากาศการเรียนรู้เชิงบวกของโรงเรียน
ผู้นำทางวิชาการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เชิงบวกที่สื่อสารถึงมาตรฐานและความคาดหวังระดับสูงสำหรับทั้งครูและนักเรียน
เครื่องมือที่สำคัญ 2 ประการที่ผู้นำทางวิชาการใช้ คือ
การกำหนดความคาดหวังและปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างในทางปฏิบัติ
ถึงแม้ว่าครูอาจจะไม่เห็นด้วยกับผู้อำนวยการโรงเรียนในทุกเรื่อง
พวกเขามักจะให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้น
เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนสร้างความสัมพันธ์ทางวิชาชีพเชิงบวกกับครู
(เช่น การสร้างความไว้วางใจ)
พวกเขามักจะให้ความสนใจกับความเชื่อดังกล่าวมากยิ่งขึ้น (Hallinger
et al., 2018)
ผู้อำนวยการโรงเรียนมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ด้วยการทำให้ครูสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
Hallinger และ Heck (1998) ตั้งชื่อมิตินี้ว่า
การวางโครงสร้างและกระบวนการทางวิชาการ (shaping academic structures
and processes) ในขณะที่ Leithwood และคณะ (2020) ให้ชื่อมิตินี้ว่า
การออกแบบองค์การ (designing the organization)
ชื่อมิติทั้งสองให้แนวคิดที่ว่าผู้นำมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการจัดวางโครงสร้างของงานและกระบวนการ
มีหลักฐานที่สนับสนุนว่ารูแบบโครงสร้างของงานหลายประเภทมีผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์และความยึดมั่นผูกพันในงานของครู
เนื่องจากตำแหน่งและอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการในโครงสร้างการบริหาร
ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงมีบทบาทที่สำคัญในการกำหนดคุณลักษณะของโครงสร้างเหล่านี้
ดังนั้นในมิติที่สามนี้การพัฒนาบรรยากาศการเรียนรู้เชิงบวกของโรงเรียน
จึงประกอบด้วยภารกิจหลายประการ:
- การพิทักษ์เวลาการเรียนการสอน
- การสร้างแรงจูงใจสำหรับครู
- การสร้างแรงจูงใจสำหรับการเรียนรู้
- การส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาชีพ
- การปรากฏตัวให้เห็นบ่อยครั้งในโรงเรียน
มิตินี้มีขอบเขตและเจตนารมณ์ที่กว้างกว่ามิติที่สองและมีความคาบเกี่ยวกับมิติที่เป็นองค์ประกอบร่วมในกรอบแนวคิดภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
(Leithwood; et al., 2006)
มีความสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จสร้างบรรยากาศองค์การที่เน้นวิชาการ
ผ่านการพัฒนามาตรฐานและความคาดหวังที่สูงและวัฒนธรรมที่ปลูกฝังและให้รางวัลกับการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โรงเรียนที่มีประสิทธิผลทางวิชาการสร้างวัฒนธรรมของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งมีการให้รางวัลที่สอดคล้องกับเป้าหมายและการปฏิบัติ และท้ายสุด
ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องแสดงค่านิยมและปฏิบัติเป็นตัวอย่างในการสร้างบรรยากาศองค์การและสนับสนุนการพัฒนาของการสอนและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

การพิทักษ์เวลาการเรียนการสอน
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้เวลาในการเรียนรู้เน้นย้ำความสำคัญของการให้เวลากับครูในการทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกรบกวน
การพัฒนาการบริหารห้องเรียนและทักษะการจัดการเรียนการสอนของครูจะไม่ส่งผลตามศักยภาพ
หากครูถูกรบกวนบ่อยครั้งด้วย การประกาศเสียงตามสาย
นักเรียนที่ไม่ตรงเวลา และการเรียกตัวจากฝ่ายอำนวยการ
ผู้อำนวยการโรงเรียนมีอำนาจในการควบคุมในส่วนนี้ผ่านการพัฒนาและการบังคับใช้นโยบายทั่วทั้งโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตารางเรียน
รวมทั้งการรบกวนเวลาในการเรียนรู้ในห้องเรียน
ในการวิจัยโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีประสิทธิผลในรัฐแคลิฟอร์เนีย
(Hallinger & Murphy, 1986)
ผู้เขียนได้เข้าไปศึกษาโรงเรียนและสังเกตว่าเมื่อใดที่นักเรียนอยู่นอกห้องเรียน
พวกเขาจะไปยืนเรียงกันเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบก่อนที่จะกลับเข้าไปในห้องเรียน
สิ่งที่พบมีความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมักไม่นำระบบการจัดการแบบทหารมาใช้ในโรงเรียน
เมื่อผู้วิจัยถามผู้อำนวยการโรงเรียนเกี่ยวกับแนวการปฏิบัตินี้
เขากล่าวว่า “ทุกคนพูดถึงการขยายเวลาในปีการศึกษา
เพื่อที่ผู้เรียนจะมีเวลาในการเรียนรู้มากขึ้น
แต่พอดิฉันเข้ามาตรวจสอบเวลาเรียนในแต่ละวัน
ดิฉันสังเกตว่านักเรียนเดินเข้าห้องเรียนถึง 5 ครั้งต่อวัน
เมื่อนักเรียนกลับเข้าห้องเรียนอย่างเป็นระเบียบ เราจะประหยัดเวลา 5
นาทีต่อครั้งที่สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ถึง 5 ครั้งต่อวัน
และเวลาเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป”
นี่คือหนึ่งในตัวอย่างจากหลายวิธีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนพัฒนากิจวัตรในโรงเรียนที่ทำให้ผู้บริหารและครูทุกคนได้ใช้ใน
‘การพิทักษ์เวลาการเรียนการสอน’ อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นคือ
ค่านิยมของการให้ความสำคัญกับกิจกรรมการสอนและการเรียนรู้
แล้วจึงพิจารณาเวลาในแต่ละวันในโรงเรียน
เพื่อหาแนวทางที่จะสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ให้มากที่สุด

การปรากฏตัวให้เห็นบ่อยครั้งในโรงเรียน
การที่ผู้อำนวยการโรงเรียนปรากฏตัวให้เห็นในโรงเรียนถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงสิ่งที่ผู้อำนวยการให้ความสำคัญในสายตาครูและนักเรียน
ถึงแม้ว่าเวลาในการทำงานส่วนใหญ่ของผู้อำนวยการโรงเรียนอาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของตน
ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถจัดลำดับความสำคัญว่าจะใช้เวลาที่เหลืออย่างไร
การปรากฏตัวให้เห็นในโรงเรียนและในห้องเรียนจะเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนและนักเรียนรวมทั้งครู
ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเจตคติของนักเรียนและครู
ผู้นำทางวิชาการยึดหลักสำคัญในการดำรงชีวิตที่ว่า:
‘ปรากฏตัวเมื่อมีเรื่องสำคัญ
และทำให้เป็นเรื่องสำคัญเมื่อท่านปรากฎตัว’ (Be visible where it
matters, and make it matter where you are visible)
ท่อนแรกของหลักดังกล่าวหนึ่งว่าผู้อำนวยการโรงเรียนจำเป็นต้องปรากฏตัวในสถานที่ที่ครูและนักเรียนกำลังทำกิจกรรมกันอยู่
ซึ่งถือว่าเป็น ‘เรื่องสำคัญ’ ในโรงเรียน
ผู้นำทางวิชาการใช้หลักที่เรียกว่า ‘การบริหารแบบเดินไปรอบ ๆ’
(management by walking around: MBWA)
ในการสร้างโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับครูและนักเรียนที่กำลังทำ
‘เรื่องสำคัญ’ อยู่ ซึ่งอาจเป็นในทางเดิน ในห้องเรียน สนามโรงเรียน
ในห้องประชุมที่กำลังมีการพูดคุยด้านการสอนและการเรียนรู้
และในการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทางวิชาชีพซึ่งครูกำลังเรียนรู้อยู่
ผู้เขียนนึกถึงผู้อำนวยการโรงเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีประสิทธิผลซึ่งผู้เขียนได้เข้าเยี่ยม
เขาจะเดินเข้าไปที่ห้องรับประทานอาหารกลางวันที่เวลา 11
โมงครึ่งของทุกวันเพื่อจะเก็บตั๋วอาหารกลางวันจากนักเรียน
ผู้เขียนสงสัยว่าเพราะเหตุใดผู้อำนวยการโรงเรียนจึงใช้เวลาอันมีค่าของเขาในการทำงานที่สามารถมอบหมายให้บุคลากรในโรงอาหารปฏิบัติแทนได้
เมื่อสอบถามกับผู้อำนวยการโรงเรียน เขาตอบว่า
“นี่เป็นสิ่งที่ผมทำในทุกวัน มันอาจจะดูเหมือนการเสียเวลา
แต่กิจกรรมนี้สร้างความมั่นใจว่า ผมจะได้มีโอกาสคุยสั้น ๆ
กับนักเรียนและครูทุกคนในโรงเรียนของผมในแต่ละวัน
ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์และทำให้มั่นใจว่าผมจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในโรงเรียนในแต่ละวัน”
“ทำให้เป็นเรื่องสำคัญเมื่อท่านปรากฎตัว”
แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของ ‘เจตนา’ ในการปฏิสัมพันธ์กับครู
นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งหมายความว่า
การสร้างอิทธิพลต่อผู้อื่นจะไม่เกิดขึ้นจากการ ‘ปรากฏตัวให้เห็น’
เท่านั้น แต่มาจากการรับรู้และสื่อสารในสถานการณ์ดังกล่าว
คุณเป็นนักฟังที่ดีหรือไม่?
คุณได้รับรู้อะไรที่จะสามารถจะใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการสอนและการเรียนรู้?
คุณกำลังสื่อสารความคาดหวังอะไร?
ค่านิยมอะไรที่คุณกำลังแสดงออกในพฤติกรรมและการตัดสินใจของคุณ?
เมื่อตอนผู้เขียนเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย
ผู้เขียนกำหนดตารางเวลาในการทำ MBWA ทุกวันก่อนการเรียนจะเริ่มขึ้น
ในระหว่างที่เดินไปรอบรอบวิทยาลัย
ผู้เขียนใช้การปฏิสัมพันธ์เป็นโอกาสในการเน้นย้ำวิสัยทัศน์ของการเรียนรู้ของวิทยาลัย
ซึ่งอาจจะเกิดจากการพูดคุยกับอาจารย์เกี่ยวกับการวางแผนการสอน
การให้ข้อมูลป้อนกลับทางการสอน หรือปัญหาผู้เรียน
สิ่งที่ผู้เขียนเน้นย้ำถือเป็นแหล่งที่สร้าง ‘ความกดดันเชิงบวก’
ให้กับอาจารย์ในการเริ่มการสอนให้ตรงเวลาและใช้เวลาในการสอนให้คุ้มค่า
MBWA สามารถเป็นเวลาสำหรับการรับรู้เกี่ยวกับปัญหา ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อครั้งหนึ่งผู้เขียนสังเกตว่าอาจารย์คนหนึ่งกำลังใช้เครื่องฉายแผ่นใสแทนการใช้เครื่อง
LCD โปรเจ็คเตอร์ เมื่อถามว่าเพราะเหตุใด
อาจารย์คนนั้นตอบกลับมาด้วยความโมโหว่า
“ถ้าโรงเรียนสามารถรักษาให้อุปกรณ์ใช้การได้ตามปกติ
ผมถึงจะใช้เครื่อง LCD โปรเจ็คเตอร์ แต่ผมเบื่อมาก
เวลามาทำงานและวางแผนที่จะใช้เครื่อง LCD โปรเจ็คเตอร์
แต่กลับพบว่ามันไม่ทำงาน มันเสียเวลาและทำให้ผมอารมณ์เสีย”
ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ชอบที่ถูกตะโกนใส่
แต่ถ้าผู้เขียนไม่ออกจากห้องทำงาน
ผู้เขียนก็จะไม่ทราบว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น
การแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วให้กับคณาจารย์
เป็นการสร้างความไว้วางใจกับอาจารย์
และยกระดับประสิทธิผลทางการสอนให้กับอาจารย์ด้วย
ผู้เขียนยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของ MBWA
เมื่อผู้เขียนได้รับอีเมลจากอาจารย์ท่านหนึ่งหลังจากที่ผู้เขียนได้ออกจากตำแหน่งมา
8 ปี อาจารย์คนนั้นเขียนว่า: “หลังจากที่คุณได้ออกจากตำแหน่งไป
เราได้มีผู้อำนวยการวิทยาลัยรวม 3 คน ผมพูดได้เต็มปากว่า
ผมไม่เคยเห็นผู้อำนวยการวิทยาลัยคนไหนที่เดินมาที่ห้องเรียนและพูดคุยกับอาจารย์หรือนักศึกษาเลย
ซึ่งทำให้ผมรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสใช้เวลาพูดคุยกับคุณนอกห้องเรียนของผม
ผมอยากจะขอบคุณสำหรับกำลังใจที่คุณให้กับผม”

การสร้างแรงจูงใจสำหรับครู
ครูใส่ความตั้งใจในการทำงานเพื่อความพึงพอใจภายใน (intrinsic
satisfaction) จากการได้เห็นนักเรียนเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ
และเพื่อความชื่นชมและการได้รับรางวัลจากความพยายามและผลการทำงาน
หนึ่งในงานที่สำคัญของผู้อำนวยการโรงเรียนทุกคนคือ
การทำให้มั่นใจว่าครูรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมและความมุ่งมั่นในการทำงานในห้องเรียนและในโรงเรียน
โดยผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถเตือนให้ครูระลึกถึงความสำคัญของการเป็นครูสำหรับทั้งนักเรียนของพวกเขาและของสังคม
ดังตัวอย่างข้อสรุปของ Jesse Stuart (1958) นักการศึกษาชาวอเมริกัน
ที่กล่าวว่า: “ฉันมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า
ครูยังคงมีชีวิตอยู่ผ่านนักเรียนของเขา
ฉันยังคงมีชีวิตอยู่ถ้าการสอนของฉันสร้างแรงบันดาลใจ มีความดีงาม
และยึดมั่นในค่านิยมอันดี การสอนที่ดีจะตายจากไปได้อย่างไร?
การสอนที่ดีจะคงอยู่ตลอดกาลและครูเป็นอมตะ”
หากผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถช่วยให้ครูรักษาความรู้สึกถึงคุณค่าในงานของพวกเขา
พวกเขาจะมีคณะครูที่มีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการทำงานที่โรงเรียน
ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องทำอย่างไร?
การกำหนดตารางจัดการเงินเดือนและระบบตำแหน่งแบบเดี่ยวเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างมาก
ในการสร้างแรงจูงใจให้กับครูโดยใช้การให้รางวัลที่เป็นตัวเงิน
ดังนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้ข้อมูลป้อนกลับ
การให้คำชม และการให้การยอมรับ
เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างแรงจูงใจให้ครู จงระลึกว่า
การให้รางวัลสามารถทำอย่างเป็นการส่วนตัว ด้วยการเขียนข้อความ
กล่าวคำขอบคุณ หรือการกล่าวต่อหน้าผู้อื่นในที่ประชุม
การให้ข้อมูลป้อนกลับและระบบการให้รางวัลที่ประสบความสำเร็จมีหลักดังนี้:
-
การให้ข้อมูลป้อนกลับต้องทำภายในเวลาที่เหมาะสม
ไม่ห่างจากเวลาที่ทำการปฏิบัติ
-
การให้ข้อมูลป้อนกลับต้องเฉพาะเจาะจง แทนที่จะแค่ว่า “ทำได้ดี”
ควรบอกกับครูว่าเขาทำอะไรได้ดี
-
การให้ข้อมูลป้อนกลับต้องมีความหมาย
ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีความหมายต่อบุคคลดังกล่าว
- การให้ข้อมูลป้อนกลับต้องแสดงความจริงใจ
ในวิทยาลัยที่ผู้เขียนเคยปฏิบัติงาน
เรามีความพยายามที่จะใช้รางวัลอย่างตั้งใจเพื่อที่จะส่งเสริมการยกระดับคุณภาพการสอนและการเรียนรู้
เราใช้หลักที่กล่าวมาข้างต้นในการออกแบบระบบของรางวัลการสอนยอดเยี่ยม
ซึ่งจะมอบให้กับอาจารย์หลังจบภาคการศึกษา
รางวัลเหล่านี้จะตัดสินจากการประเมินคุณภาพการสอนและ/หรือหลักฐานของนวัตกรรมในการสอน
ในวิทยาลัยมีคณาจารย์กว่า 75 คน
เราจึงเลือกที่จะให้การยอมรับผลการปฏิบัติงานของอาจารย์รายบุคคลจำนวนหลายคนในแต่ละภาคเรียน
รวมทั้งทีมการสอนหนึ่งทีม (เช่น ทีมกลุ่มรายวิชาหรือทีมระดับชั้นปี)
รางวัลเป็นเช็คเงินสดที่มีมูลค่าไม่มาก
ประกาศนียบัตรความเป็นเลิศทางการสอน
และการประกาศรายชื่อผู้ชนะรางวัลในห้องโถงด้านหน้าของวิทยาลัย
ช่วงท้ายของแต่ละภาคเรียน
จะมีการเก็บข้อมูลโดยทีมภาวะผู้นำทางวิชาการและเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับรางวัล
ในการประชุมคณาจารย์ครั้งถัดมา
ผู้เขียนจะแจ้งให้คณาจารย์ทราบเกี่ยวกับความก้าวหน้าของวิทยาลัยในภาคเรียนที่ผ่านมา
รวมทั้งทำการมอบรางวัลความเป็นเลิศทางการสอนระหว่างการประชุมนี้
ผู้รับรางวัลจะได้รับการขานชื่อมาที่หน้าห้องประชุมเพื่อรับประกาศนียบัตร
เช็ค และถ่ายรูปทีละคน นอกจากนี้
อาจารย์แต่ละคนจะถูกขอให้เล่าเรื่องราว
และแบ่งปันประสบการณ์ว่าเขาทำอย่างไรบ้างในชั้นเรียนที่ทำให้การสอนในภาคเรียนที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ
กระบวนการดังกล่าวถือเป็นวิธีการสำคัญในการเสริมแรงการเน้นการสอนและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพที่ฝ่ายบริหารต้องการเผยแพร่
ยิ่งไปกว่านั้น
อาจารย์ได้รับฟังเรื่องราวและแนวการปฏิบัติจากเพื่อนคณาจารย์โดยตรงแทนการฟังจากผู้อำนวยการ
ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่มีพลังมากกว่าอย่างยิ่ง
คุณค่าของรางวัลเล็ก ๆ เหล่านี้ไม่ควรถูกมองข้าม
อาจารย์คนหนึ่งเผยความรู้สึกส่วนตัวกับผู้อำนวยการหลังจากได้รับรางวัล
เขาพูดด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า “ผมสอนที่นี่มากกว่า 15
ปีและนี่เป็นครั้งแรกที่มีคนให้ความสนใจในสิ่งที่ผมทำในห้องเรียน
ผมกับเช็คที่มีมูลค่าไม่มากนี้
แต่มันมีความหมายกับผมมากกว่าที่งานที่ผมทำกับนักศึกษาของผมได้รับการชื่นชม
ผมรู้สึกซาบซึ้งและภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาจารย์ที่สอนดี

การส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาชีพ
ภาระงานนี้เกี่ยวข้องกับบทบาทที่ผู้นำทางวิชาการแสดงออกในการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนไปสู่ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
(professional learning communities: PLC)
งานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูให้ข้อสรุปว่า
เป็นกระบวนการที่ครูได้รับองค์ความรู้ใหม่ที่เน้นความรู้ในเนื้อหาและวิธีการสอนที่พัฒนาการปฏิบัติการสอนของครู
การเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูเกิดขึ้นได้โดยผ่านโครงสร้างที่เป็นทางการเช่น
โปรแกรมการพัฒนาทางวิชาชีพ กลุ่มวิจัยทางการสอน และโปรแกรมที่ปรึกษา
รวมทั้งเกิดจากการเรียนรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานในแต่ละวันในบริบทที่แตกต่างกัน
เช่น การสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (peer teaching)
การวางแผนแบบร่วมมือร่วมพลัง (collaborative planning)
การประเมินร่วมกัน (shared assessment)
และการให้คำปรึกษาระหว่างเพื่อนร่วมงานอย่างไม่เป็นทางการ
ผู้เขียนขอเน้นย้ำข้อค้นพบนี้ใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก
ผู้เขียนมีความสงสัยว่ามีผู้อำนวยการโรงเรียนไม่มากนักที่ตระหนักถึงความสำคัญของข้อค้นพบนี้
ประเด็นที่สอง
ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่สำคัญของหลักที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้:
“ปรากฏตัวเมื่อมีเรื่องสำคัญ
และทำให้เป็นเรื่องสำคัญเมื่อท่านปรากฎตัว (Be visible where it
matters, and make it matter where you are visible)”
ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้อำนวยการโรงเรียนจะกล่าวแนะนำวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะครู
และเมื่อกล่าวจบจะออกจากห้องประชุมในทันที
นี่ถือเป็นการสูญเสียโอกาสในการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างของการให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
รวมทั้งการได้รับข้อมูลที่สามารถช่วยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสนับสนุนคณะครูในการนำความรู้ใหม่ไปปฏิบัติจริง
ผู้นำทางวิชาการจะเรียนรู้ร่วมกับครูของพวกเขา
การสร้างแรงจูงใจสำหรับการเรียนรู้
ภาระงานสุดท้ายของผู้อำนวยการโรงเรียนภายใต้มิติด้านการพัฒนาบรรยากาศการเรียนรู้เชิงบวกของโรงเรียนคือ
การสร้างแรงจูงใจสำหรับการเรียนรู้
การสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ผู้เรียนให้คุณค่ากับผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการเป็นเรื่องที่สามารถทำได้
การสร้างบรรยากาศของความสำเร็จเกี่ยวข้องกับการสร้างโอกาสที่หลากหลายและมองเห็นได้ที่ผู้เรียนจะได้รับรางวัลและการยอมรับในความสำเร็จในการพัฒนาทางวิชาการของตน
รางวัลไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่หรือมีมูลค่าสูง
แต่ผู้เรียนควรได้รับโอกาสที่จะได้รับการยอมรับในความสำเร็จของพวกเขาทั้งภายในห้องเรียนและก่อนหน้าทั้งโรงเรียน
บทสรุป
ในปี 1996 ผู้เขียนและ Ron Heck
ได้ตีพิมพ์บทความปริทัศน์งานวิจัยนานาชาติเกี่ยวกับอิทธิพลของภาวะผู้นำของผู้อำนวยการโรงเรียนต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
บทความปริทัศน์นี้ให้ข้อสรุปว่า
ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถมีอิทธิพลระดับน้อยแต่มีความหมายต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ได้ทำหน้าที่สอน
หรือหากสอน ก็อาจจะสอนผู้เรียนเพียงไม่กี่คน เราจึงสรุปว่า
อิทธิพลของผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนนั้นเกิดผลในทางอ้อมโดยผ่านอิทธิพลจากโครงสร้างของโรงเรียนและครู
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
นักวิจัยจำนวนมากได้ยืนยันและขยายผลของข้อสรุปนี้ (Leithwood et al.,
2020; Robinson et al., 2008) ในทุกวันนี้
เรามั่นใจว่าผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถมีอิทธิพลต่อคุณภาพของการเรียนรู้ของผู้เรียน
ภาวะผู้นำทางวิชาการเริ่มต้นจากค่านิยม (เช่น การเรียนรู้)
ที่สามารถอธิบายผ่านวิสัยทัศน์และความคาดหวัง
ได้รับการสนับสนุนด้วยเจตนาที่มุ่งมั่น
และแสดงให้เห็นผ่านการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง
และสะท้อนออกมาผ่านการตัดสินใจที่เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่าในโรงเรียน