คุณภาพการศึกษาไทยกับความหวังที่ยังไม่สิ้นหวัง

เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566
thumbnail

ในฐานะที่เคยมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย หลักสูตรและการบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศในตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๐ ถึง พ.ศ.๒๕๖๔ และในปีต่อมาคือปี พ.ศ.๒๕๖๑ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา เพื่อกำกับดูแลเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพควบคุม จรรยาบรรณวิชาชีพ การยกย่องวิชาชีพและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพควบคุมตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ และในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นั้นก็มีฐานะเป็นคณะกรรมการของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยตำแหน่งอีกด้วยและได้มีโอกาสทำหน้าที่รักษาการประธานคณะกรรมการฯ (สมศ.) ในปี พ.ศ.๒๕๖๔ ถึง พ.ศ.๒๕๖๕ ถือได้ว่าเป็นคนแรกที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องการศึกษาในเวลาเดียวกันถึง ๓ องค์การหลักของประเทศ คือ กำกับดูแลนโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายการผลิตครูและกำกับดูแลวิชาชีพควบคุม รวมทั้งนโยบายการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศ ทำให้สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการในการปฏิบัติงานและพัฒนาในส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกันได้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ซึ่งมุมมองและแนวคิดที่ผมจะเสนอต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้และตั้งข้อสังเกตจากการเข้ามามีส่วนร่วมฐานะผู้รับผิดชอบในตำแหน่งที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงหลักการคิด แนวทางปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิดใหม่ๆ ของผู้บริหารการศึกษาทั้งระดับกระทรวงศึกษาธิการ ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่การศึกษาจนถึงระดับสถานศึกษา อันจะมีผลกระทบให้เกิดโมเมนตัม (Momentum) ของการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงและรวดเร็วขึ้น

เมื่อกล่าวถึงการจัดการศึกษาของประเทศไทยมักจะให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นหลักๆสำคัญ

ใน ๓ ประเด็นคือ ๑. การเข้าถึงการศึกษาของประชากรวัยเรียน ๒. คุณภาพการศึกษา และ ๓. ประสิทธิภาพ ของการใช้งบประมาณ การจัดการศึกษาของประเทศในอดีตที่ผ่านมาทำได้ผลดีมากในเรื่องการเข้าถึงการศึกษา ของประชากรวัยเรียน มีสถานศึกษาระดับประถมศึกษากระจายทั่วถึงทุกตำบล สถิติปีการศึกษา ๒๕๖๓ ผู้เรียนระดับประถมศึกษาตามเกณฑ์อายุ ๖ - ๑๑ ปี มีถึงร้อยละ ๙๙.๙๓ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงการศึกษาไม่มีปัญหาใด ๆ แต่สำหรับเรื่องคุณภาพการศึกษา ไม่ว่าจะผ่านมาแล้วกี่ปีก็ตาม แม้กระทั่งเกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่คาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของประเทศให้ดีมีคุณภาพมากขึ้นแต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังแต่อย่างใด

การเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผ่านมาผู้เรียนได้รับประโยชน์จริงหรือ

การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบบริหาร หรือโครงสร้างการบริหารมักจะมีกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเสมอตามลำดับความสำคัญ ๕ กลุ่มคือ ๑. ผู้เรียน ๒. สังคม และชุมชน ๓. ครูและบุคลากรการศึกษา ๔. ผู้บริหารสถานศึกษา ๕. ผู้อยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมากว่า ๒ ทศวรรษกลุ่มหลักซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งบริหาร หรือ ผู้ที่มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้เรียนในเรื่องคุณภาพการได้รับการศึกษากลับได้รับการดูแลท้ายสุดและผู้อยู่ในตำแหน่งก็ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใด ๆ ต่อผลการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่สามารถบริหารจัดการให้มีคุณภาพได้ ผลประโยชน์และตำแหน่งที่ครองอยู่ก็ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น

เจตนารมย์ของการออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ต้องการให้มีการกระจายอำนาจการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการชัดเจน ตามมาตรา ๓๙ ที่กำหนดให้กระทรวงกระจายอำนาจบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรนมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง หลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจดังกล่าวให้เป้นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการมีขนาดเล็กลงไม่ต้องมีกรมมากมายแบบอดีตถึง ๑๔ กรม ให้ยุบรวมเหลือเพียง ๕ แท่งตามที่ทราบกันดี แต่นับวันการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการยังคงรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางเหมือนเดิม และจำนวนบุคลากรก็มิได้ลดลง เช่น สพฐ.มีหน่วยงานถึง ๒๐ สำนักเป็นหน่วยงานที่ถูกต้องตามโครงสร้างจริง ๆ อาจจจะเพียงครึ่งเดียว มีบุคลากรข้าราชการและลูกจ้างปฏิบัติงานที่กระทรวงศึกษาธิการรวมแล้วมากกว่า ๑,๐๐๐ คน (ข้อมูลปี ๒๕๖๔) ทั้ง ๆที่ควรจะมีขนาดเล็กลง เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่งคือการจัดพื้นที่บริการการศึกษาให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตาม พรบ.การศึกษา พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดให้การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมและมัธยมศึกษาให้รวมกันอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกันและจัดแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาครอบคลุมพื้นที่ให้บริการที่ไม่ได้อิงตามพื้นที่ของจังหวัด แต่อยู่มาไม่นานผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาก็เรียกร้องต้องการให้แยกเขตพื้นที่การศึกษาออกมาเป็นเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาต่างหากโดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ และยังต้องการให้มีเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาครบทุกจังหวัดอีกทั้ง ๆ ที่บางจังหวัดมีสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพียงไม่กี่แห่ง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมาแสดงให้เห็นได้เชิงประจักษ์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมานั้นเกิดผลประโยชน์กับกลุ่มที่อยู่ในตำแหน่งมากกว่าผลประโยชน์ด้านคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนหรือแม้กระทั่งผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่สังคม ชุมชนก็ยังดูห่างไกล การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เกิดมาในอดีตมิได้เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนแต่อย่างใด แต่มักจะเป็นการเรียกร้องเพื่อความก้าวหน้า โอกาสก้าวหน้าทางสถานภาพ ตำแหน่งต่าง ๆ ของกลุ่มผู้เรียกร้องที่นิยมใช้วิธีการระดมพลแต่งชุดดำมาที่สนามหญ้าหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ผมยังไม่เคยเห็นกลุ่มผู้เรียกร้องที่แต่งชุดดำออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนแต่อย่างใด ไม่เคยเห็นการเรียกร้องให้ย้ายผู้บริหารที่ไม่มีคุณภาพออกจากสถานศึกษาและหากไม่มีความสามารถในการบริหารต้องไม่ให้เป็นผู้บริหารสถานศึกษาอีก เห็นแต่อ้างเพื่อคุณภาพการศึกษา เพื่อขวัญกำลังใจของผู้อยู่ในตำแหน่งแต่ไม่ได้พูดถึงขวัญกำลังใจผู้เรียนที่ต้องทนกับสภาพการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารที่ไร้ฝีมือ การอ้างว่าเพื่อคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนมักเป็นเพียงวาทกรรมที่ใช้กล่าวอ้างเท่านั้น ขาดการแสดงออกให้เห็นเป็นพฤติกรรมที่มีความมุ่งมั่นต่อเนื่องอย่างจริงจัง

คุณภาพการศึกษาเกิดขึ้นได้อย่างไร

การที่ผู้เรียนจะได้รับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพการหรือไม่ ในความคิดของผมย่อมขึ้นกับคุณภาพของสถานศึกษาซึ่งประกอบด้วยคุณภาพทั้ง ๘ ประการดังนี้คือ

  1. คุณภาพผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องมีประสบการณ์ ผ่านการปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้ากลุ่มสาระ และต้องเคยปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสถานศึกษามาก่อน มีภาวะผู้นำการบริหารและสามารถเป็นผู้นำทางวิชาการ (Instructional Leadership) ได้อย่างแท้จริง
  2. คุณภาพครู และบุคลากรการศึกษาที่ต้องได้รับการส่งเสริม พัฒนาวิชาชีพและสร้างสถานศึกษาให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC: School as Learning Community) มีการจัดการความรู้ของสถานศึกษาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูและบุคลากรการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
  3. คุณภาพหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นสมรรถนะผู้เรียนว่าต้องทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ต้องเรียนวิชาอะไรถึงจะจบการศึกษา และต้องมีกระบวนการวัด ประเมินผลการเรียนรู้ที่หลากหลายไม่ใช่วัดแต่ความจำของผู้เรียนแต่ต้องวัดสมรรถนะหลากหลายและการประยุกต์ใช้
  4. คุณภาพผู้เรียนทั้งผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ สมรรถนะ ทักษะการเรียนรู้ การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ต้องเป็นไปตามเป้าหมายผลลัพธ์การศึกษาของชาติคือผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างนวัตกรรมหรือนวัคกร และเป็นพลเมืองเข้มแข็ง
  5. คุณภาพอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย (Safety and Healthy Environment) เช่น การจัดทำแผนบำรุงรักษาอาคารสถานที่มีกำหนดช่วงเวลาชัดเจนเช่น ทุก ๓ ปี และการตรวจสอบสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จัดให้กับผู้เรียน ครู บุคลากรการศึกษาทุกภาคเรียน เป็นต้น
  6. คุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน ICT และเทคโนโลยีดิจิทัลที่สนับสนุนการบริหารสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอนของครู และการนำตนเองในการเรียนรู้ของผู้เรียนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้โดยสะดวก เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ตลอดจนการเรียนรู้ของครู และบุคลากรการศึกษาของสถานศึกษา
  7. คุณภาพการบริหารจัดการสถานศึกษาทั้งการบริหารงบประมาณ การเงิน ทรัพยากรบุคคล กิจการนักเรียน การบริหารทั่วไปและการให้บริการของสถานศึกษาแก่ผู้เกี่ยวข้อง
  8. คุณภาพการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน การสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายสหวิชาชีพในชุมชนเพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือ พัฒนางานของสถานศึกษาในแต่ละด้าน

สถานศึกษาในอนาคตควรเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามความคาดหวังของสังคม และต้องมีความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทุนมนุษย์ให้แก่ชุมชนได้ด้วย บทบาทสถานศึกษาในอนาคตต้องรับผิดชอบต่อชุมชน และจะมีผลให้ชุมชนมีส่วนรับผิดชอบต่อสถานศึกษาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การเปิดห้องสมุดสถานศึกษาให้ชุมชนเข้ามาใช้ได้ในวันหยุด เปิดห้องคอมพิวเตอร์ให้ชุมชนสามารถมาใช้ได้ตามโอกาสอันควร โดยมีครูหรือบุคลากรการศึกษาของสถานศึกษาช่วยดูแลแนะนำ เรียกเป็นการขึ้นเวรให้บริการชุมชนไม่ใช่ขึ้นเวรเฝ้าสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งการเปิดระบบอินเตอร์เน็ตให้ชุมชนรอบสถานศึกษาได้เข้าถึง สามารถลงทะเบียนตัวตนได้และให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ฟรี ๒ ชั่วโมงในแต่ละครั้งหลังเวลาเลิกสถานศึกษาและวันหยุดของสถานศึกษา เนื่องจากสถานศึกษาชำระค่าบริการอินเตอร์เน็ตเป็นรายเดือนอยู่แล้วการเปิดให้ชุมชนรอบสถานศึกษาได้ใช้ฟรีในเวลาที่กำหนดก็ไม่ได้เพิ่มรายจ่ายแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างควาสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างชุมชนกับสถานศึกษาที่น่าจะส่งผลดีต่อสถานศึกษาและสถานศึกษาก็สามารถประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสถานศึกษาผ่านระบบดังกล่าวให้ชุมชนได้ทราบทุกครั้งที่ชุมขนใช้อินเตอร์เน็ตของสถานศึกษา เป็นต้น

กระทรวงศึกษาธิการศูนย์กลางอำนาจที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

อ้างอิงหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมราชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยต้องการผู้บริหารที่เข้าใจชุมชน สามารถเข้าถึงชุมชน และนำการพัฒนาได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของชุมชนได้ แต่ที่ผ่านมาส่วนกลางกระทรวงศึกษาธิการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอำนาจโยกย้ายผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาได้ทั่วประเทศ ตัวอย่าง เคยมีการโยกย้ายผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา จากภาคอีสานเข้ามาเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาใน กทม. หรือสลับเปลี่ยนระหว่างภูมิภาคอื่น ๆ ได้ทั่วประเทศ กว่าจะสร้างความคุ้นเคยกับความเป็นอยู่อย่างเข้าใจ เข้าถึง วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนก็ใช้เวลาพอสมควร ทำให้เสียโอกาสพัฒนาของสถานศึกษาโดยใช่เหตุ ยิ่งการแต่งตั้งโยกย้ายที่ได้มาจากการวิ่งเต้น เส้นสายมากกว่าความรู้ความสามารถโดยมักจะอ้างการใช้รูปแบบที่รองรับอำนาจการตัดสินใจจากส่วนกลางว่ามีความเหมาะสมทั้ง ๆ ที่เบื้องหลังที่แท้จริงในบางครั้งคือการวิ่งเต้นใช้เส้นสายบารมีของผู้มีอำนาจ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของมาตรา ๓๙ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แม้ ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ยังไม่ประกาศใช้แต่ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ฉบับปัจจุบัน ประกอบกับคำสั่ง คสช. ๑๙/๒๕๖๐ การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ก็น่าจะใช้เป็นหลักการในการกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางให้จังหวัดที่มีความพร้อม ซึ่งอาจจะเห็นภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักเพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับและมีปริมาณสถานศึกษาในสังกัดของรัฐทั่วประเทศถึง ๓๐,๐๐๐ แห่งเศษ ขณะที่อาชีวศึกษาในสังกัดของรัฐทั่วประเทศมีไม่ถึง ๕๐๐ แห่ง ซึ่งขอเสนอแนวคิดการเปลี่ยนแปลงในบางประเด็นที่คิดว่าสามารถช่วยให้มีความหวังที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาได้พอสมควร

การเปลี่ยนแปลงที่สนับสนุนการยกระดับคุณภาพการศึกษา

  1. จังหวัดกำหนดนโยบายและมีอำนาจตัดสินใจการจัดการศึกษาของจังหวัด
    กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือเทียบเท่า สำนักงานที่มีชื่อเรียกอื่น ๆ จะต้องกระจายอำนาจการบริหาร การตัดสินใจดำเนินการที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้จังหวัดที่มีความพร้อมรับผิดชอบดำเนินการเองทั้งหมด กระทรวงศึกษาธิการจะมีหน้าที่เพียงการกำกับ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาล และของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลักเท่านั้น โดยให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัด คัดเลือกโดยมีคณะกรรมการสรรหาที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัดมีหน้าที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบาย ทิศทางการจัดการศึกษาทุกระดับของจังหวัด (ยกเว้นระดับอุดมศึกษา) งบประมาณการศึกษา หลักสูตรสถานศึกษา อัตรากำลังคนด้านการศึกษา และความก้าวหน้าวิชาชีพของผู้บริหาร ครู บุคลากรการศึกษาทุกประเภทของจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานมีองค์ประกอบคณะกรรมการที่มาจาก ๓ ส่วนอย่างละเท่า ๆ กันคือ ๑.ผู้ทรงคุณวุฒิสภาหอการค้าจังหวัดและภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัด ๒.ผู้บริหารสถานศึกษาของรัฐ ๓.ผู้บริหารสถานศึกษาของเอกชน เป็นคณะกรรมการ และมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
    คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด จะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นคณะกรรมการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ ทิศทางการจัดการศึกษาของจังหวัด การสนับสนุนการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ต้องปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการใหม่ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน โดยมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขานุการ
    เขตพื้นที่การศึกษา รับผิดชอบติดตามกำกับ ดูแล ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาทุกระดับทุกประเภททั้งของรัฐและเอกชน (ยกเว้นระดับอุดมศึกษา) ขึ้นตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการศึกษาจังหวัดไม่ขึ้นตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หรือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ แบบที่เคยเป็น แต่จะเปลี่ยนใช้ชื่อ เขตพื้นที่การศึกษา ๑. เขตพื้นที่การศึกษา ๒. และ เขตพื้นที่การศึกษา ๓., ๔. ในแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนเขตพื้นที่การศึกษามากน้อยก็ขึ้นกับปริมาณจำนวนสถานศึกษา การดูแลการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาต้องดูแลทั้งระดับประถม มัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและการศึกษานอกระบบ นั่นหมายถึงการเลิกใช้ชื่อเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือ เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แต่ให้เขตพื้นที่การศึกษาได้ดูแลการศึกษาของจังหวัดจริง ๆ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบ การนิเทศการศึกษา การกำกับดูแล สนับสนุน ส่งเสริม คุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชน อาชีวศึกษาทุกสังกัด รวมทั้งการศึกษานอกระบบทุกประเภท ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ซึ่งมีศึกษาธิการศึกษาจังหวัดเป็นผู้บริหารกำกับ ติดตาม ควบคุม ดูแล และต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัดเป็นระยะ ๆ ตามกำหนด
    สถานศึกษาที่จัดการศึกษาปฐมวัย การศึกษาพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบทุกประเภท สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัด ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาโดยเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด
    โครงสร้างการบริหารที่เสนอมานี้เน้นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางอย่างแท้จริง บทบาทกระทรวงศึกษาธิการจะมีหน้าที่กำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศตามแนวทางที่สภาการศึกษา (อาจจะเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติตามร่าง พรบ.การศึกษาฉบับใหม่) กำหนด หรือ ตามนโยบายของรัฐบาล ความรับผิดชอบการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาต้องเป็นความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัด ไม่ใช่บริหารจากส่วนกลางแบบในอดีตอีกต่อไป จังหวัดต้องมีอิสระทางการบริหารวิชาการ งบประมาณ บุคลากร เพื่อการจัดการศึกษาของจังหวัด โดยเฉพาะงบประมาณการศึกษาต้องจัดสรรให้จังหวัดตรงถึงสถานศึกษา ไม่ใช่จัดสรรให้กระทรวงศึกษาธิการแล้วกรองส่งต่อให้สถานศึกษาซึ่งอาจจะไม่ทราบความต้องการจำเป็นที่แท้จริงของสถานศึกษาได้ดีเท่าคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด การปรับเปลี่ยนตามแนวคิดนี้สามารถใช้ข้อมูลและผลการดำเนินงานของสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.๒๕๖๒ มาประกอบการพิจารณาเพื่อความรอบคอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้

  2. กระจายอำนาจการบริหารทรัพยากรบุคคลทางการศึกษา
    การกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลตั้งแต่การสรรหา สอบคัดเลือก บรรจุ แต่งตั้งให้เป็นอำนาจความรับผิดชอบของคณะกรรมการการศึกษาของแต่ละจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีหน้าที่หลักในการกำหนดคุณสมบัติทั่วไปเพื่อการบรรจุแต่งตั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ ส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพ ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ประเภทวิทยฐานะ ค่าตอบแทนของผู้บริหาร ครู บุคลากรการศึกษาตามวิทยฐานะ หลักเกณฑ์เข้าสู่ตำแหน่ง/วิทยฐานะ วิธีการประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง/วิทยฐานะ ตลอดจนเรื่องวินัย คุณธรรม จริยธรรม ของผู้บริหาร ครูและบุคลากรการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางให้คณะกรรมการการศึกษาของจังหวัดนำไปเป็นแนวปฏิบัติ หมายความว่าการสอบบรรจุครูใหม่ อัตราที่ต้องการ จำนวนที่จะบรรจุได้ การโยกย้าย แต่งตั้งผู้บริหาร ครูและบุคลากรการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา หรือการพิจารณาผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครูและบุคลากรการศึกษาเป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ของแต่ละจังหวัดซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดที่จะรับผิดชอบบริหารจัดการ ดำเนินการเองได้ภายใต้กรอบกฎหมาย ข้อบังคับ หรือ ประกาศที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ซึ่งงบประมาณสำหรับการเพิ่มเงินเดือนของครูแต่ละจังหวัดก็สามารถเพิ่มพิเศษ (Top up) จากงบประมาณของท้องถิ่นเองได้ ซึ่งสามารถนำระบบภาษีการศึกษามาใช้เพื่อการจัดบริการการศึกษาของแต่ละจังหวัดและท้องถิ่นได้ รวมถึงการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มพิเศษสำหรับค่าตอบแทนวิทยฐานะของครูและบุคลากรการศึกษาของจังหวัดเองได้เช่นกัน เช่นจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดนนทบุรี หรือจังหวัดอื่น ๆ ที่มีฐานะงบประมาณพร้อมก็อาจจะเพิ่มเงินพิเศษ Top up สำหรับครู วิชาเอกเฉพาะเคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ฯลฯ ที่หายากอีกคนละ ๑,๕๐๐ บาทต่อเดือน หรือ ๑,๐๐๐ บาท สำหรับครูวิชาเอกอื่น ๆ ทั่วไป ถ้าสามารถทำได้นอกจะมีผลให้เงินเดือนครูใหม่สามารถจูงใจครูได้มากขึ้น และยังมีผลจูงใจให้มีผู้สนใจเรียนวิชาเอกในสาขาวิชาเฉพาะที่เรียนยากกว่าวิชาเอกทั่วไปมากขึ้นและอาจจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูวิชาเอกที่หายากเหล่านี้ได้อีกด้วย ผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นอีกอย่างคือครูอาจจะขอโยกย้ายน้อยลงเพราะการโยกย้ายไปจังหวัดอื่นจะได้รับเฉพาะเงินเดือนตามอัตราเงินเดือนที่ได้รับอยู่เท่านั้น การจัดสรรเงินเพิ่มพิเศษ Top up นี้ต้องพิจารณาอุดหนุนครูสถานศึกษาเอกชนด้วย ส่วนเรื่องวิทยฐานะของครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรการศึกษาที่เป็นข้าราชการก็ให้เป็นกระบวนการและอำนาจการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ของแต่ละจังหวัดซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ดำเนินงานภายใต้ประกาศ ข้อบังคับที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)
    ดังนั้นในอนาคตบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของศึกษาธิการจังหวัด จะสำคัญมากต้องได้นักบริหารมืออาชีพมีประสบการณ์และสมรรถนะสูงทางการบริหารการศึกษา อีกทั้งต้องรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษาของจังหวัดด้วย ผมจึงขอเสนอดังนี้
    ศึกษาธิการจังหวัด ไม่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการแบบอดีตและไม่ใช่ข้าราชการเป็นผู้บริหารการศึกษากลุ่มแรกที่ควรจะพิจารณาแนวทางให้ออกนอกระบบราชการให้มีฐานะเป็นพนักงานราชการ มีค่าตอบแทนที่สูงในอัตราไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๑๕๐,๐๐๐ บาทและสวัสดิการอื่น ๆ ตามเงื่อนไขสัญญาการจ้าง เช่น กำหนดอายุไม่น้อยกว่า ๔๐ ปีต้องมีประสบการณ์บริหารการศึกษาหรือบริหารสถานศึกษารวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี มีผลงานเชิงประจักษ์ชัดเจน ต้องมีสมรรถนะภาษาอังกฤษ สมรรถนะดิจิทัล ระดับใด เป็นต้น โดยต้องทำสัญญาจ้างในตำแหน่งนักบริหาร มีวาระคราวละ ๔ ปี สามารถทำสัญญาได้ไม่เกิน ๒ วาระ (รวมแล้วไม่เกิดน ๘ ปี เพื่อให้เกิดการสับเปลี่ยน และได้ผู้บริหารที่มีแนวคิดใหม่ ๆ ในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดอยู่เสมอ) ภายใต้เงื่อนไขการจ้างและสวัสดิการที่กำหนดขึ้นนี้ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการศึกษาของจังหวัดตามที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัดกำหนด หากไม่สามารถบริหารจัดการศึกษาของจังหวัดให้มีคุณภาพตามเป้าหมายที่ตกลงหรือลงนาม MOU ไว้ก็จะได้รับการบอกกล่าว ตักเตือน ให้ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่เห็นร่วมกัน และหากยังไม่สามารถบริหารให้ได้ตามที่กำหนด คณะกรรมการการศึกษาจังหวัดสามารถเลิกจ้างได้ก่อนครบกำหนดสัญญาว่าจ้าง วิธีการนี้จะทำให้ได้ศึกษาธิการจังหวัดที่เป็นนักบริหารมืออาชีพที่ต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของจังหวัดจริง ๆ ไม่ใช่เป็นข้าราชการแบบอดีตที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพการแต่อย่างใดเลย
    ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ไม่ใช่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แบบอดีต อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของศึกษาธิการจังหวัด ยังมีฐานะเป็นข้าราชการอยู่แต่ต้องมีระบบประเมินผลการปฏิบัติงานที่ต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบอยู่ สามารถได้รับการแต่งตั้ง โยกย้ายได้โดยคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ในอนาคตสำหรับจังหวัดที่มีความพร้อมอาจจะพิจารณาให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาออกนอกระบบราชการได้เช่นกัน ให้มีอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๑๒๐,๐๐๐ บาทและสวัสดิการอื่น ๆ ตามเงื่อนไข เช่น กำหนดอายุไม่น้อยกว่า ๓๕ ปีต้องมีประสบการณ์เคยเป็นครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษารวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี มีผลงานเชิงประจักษ์ชัดเจนเช่นเดียวกัน ต้องมีสมรรถนะภาษาอังกฤษ สมรรถนะดิจิทัล ระดับใด เป็นต้น โดยต้องทำสัญญาจ้างในตำแหน่งนักบริหาร มีวาระคราวละ ๔ ปีสามารถทำสัญญาจ้างได้ไม่เกิน ๒ วาระเช่นกัน วิธีการนี้จะเปิดโอกาสให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษาของภาคเอกชนที่มีสมรรถนะความรู้ความสามารถสูงมีความเป็นมืออาชีพเข้าสู่กระบวนการสรรหาคัดเลือกให้เข้ามารับตำแหน่งได้ ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพของจังหวัด
    ศึกษานิเทศก์ ให้มีหน่วยงานนิเทศการศึกษาในระดับจังหวัดเท่านั้นทำหน้าที่เป็น Regulator ที่คอยติดตาม กำกับ ดูแล สนับสนุน ตรวจสอบประเมินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัด เนื่องจากเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเสมือน Operator ผู้ปฏิบัติ หากให้มีหน่วยศึกษานิเทศก์ซึ่งเป็น Regulator สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาด้วยถือเป็นความสิ้นเปลืองซ้ำซ้อนและขัดกับหลักการสำคัญที่ต้องไม่ให้ผู้ปฏิบัติและผู้กำกับติดตามประเมินอยู่ในสังกัดระดับเดียวกัน ซึ่งในอนาคตคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดสามารถพิจารณาจ้างศึกษานิเทศก์ ครู หรือ ผู้บริหารสถานศึกษาที่เกษียณอายุราชการแต่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถเชิงประจักษ์ชัดเจนมาทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ ของจังหวัดก็ได้โดยสามารถขอยกเว้นใบประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์สำหรับผู้ที่ไม่มีได้เป็นกรณี ๆ ไป
    ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรการศึกษา มีสถานะเป็นข้าราชการไม่เปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ใด ๆ อันพึงมีพึงได้แต่การบรรจุ โยกย้าย แต่งตั้ง ตลอดจนการได้รับหรือการเลื่อนวิทยฐานะต่าง ๆ เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ของแต่ละจังหวัด การปฏิบัติหน้าที่ครู และบุคลากรการศึกษาอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งผู้อำนวยการสถานศึกษาก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ความก้าวหน้าในวิชาชีพของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรการศึกษาขึ้นกับการพิจารณาและสิ้นสุดที่ระดับจังหวัดเท่านั้นไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แบบอดีต เนื่องจากปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากอยู่ในภูมิภาค จังหวัดต่าง ๆ อย่างเพียงพอและมีความพร้อมที่จะสนับสนุนภารกิจนี้ของจังหวัดได้

  3. ความยืดหยุ่นในการใช้งบประมาณของสถานศึกษา
    การจัดสรรงบประมาณของสถานศึกษาของรัฐนอกจากพิจารณาการจัดสรรตามยุทธศาสตร์ชาติแล้วยังต้องคำนึงถึงความคล่องตัวในการใช้งบประมาณของสถานศึกษาเป็นสำคัญด้วย ไม่ควรยึดการจัดสรรตามรายการ (Categorical Grants)แบบเดิม ๆ คือจัดสรรงบประมาณตามรายการและจะต้องใช้จ่ายตามรายการที่ขออนุมัติเท่านั้น หากสถานศึกษาประสบปัญหาเฉพาะหน้าและมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณแต่ไม่อยู่ในรายการที่อนุมัติก็ไม่สามารถใช้ได้หรือมีขั้นตอนดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณที่มากมายหลายขั้นตอนทำให้เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาของสถานศึกษามาก ควรปรับเปลี่ยนงบประมาณที่จะจัดสรรให้สถานศึกษาเป็นงบก้อนแบบล่ำซำ (Block Grants) ซึ่งสถานศึกษามีอิสระ คล่องตัวและมีความยืดหยุ่นมากกว่าและสามารถตัดสินใจที่จะใช้งบประมาณได้เองภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณกว้าง ๆ ที่กำหนดมา ซึ่งไม่ตายตัวแบบงบตามรายการ เช่น อาจจะนำงบประมาณที่ขอตามรายการ มารวมเป็นกลุ่มก้อน ได้แก่ งบส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ งบพัฒนาทรัพยากรบุคคล งบพัฒนาอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม งบพัฒนาผู้เรียน เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพรวมงบประมาณของสถานศึกษาทั้งหมดและให้อิสระสถานศึกษามีความยืดหยุ่นในการบริหารงบประมาณสถานศึกษาสามารถโยกย้ายใช้งบประมาณจากแต่ละงบได้แต่ต้องไม่เกินวงเงินรวมที่ได้รับอนุมัติในแต่ละปีงบประมาณ
    ในกรณีที่สถานศึกษาจำเป็นต้องขอเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณหรือกรอบวงเงินใด ๆ ให้เสนอผ่านเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อขออนุมัติต่อคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดและถือเป็นที่สิ้นสุด โดยไม่ต้องให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือเทียบเท่า สำนักงานที่มีชื่อเรียกอื่นของกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้อนุมัติแบบอดีต และหากสถานศึกษาของรัฐทุกสังกัดมีงบประมาณเหลือจ่ายหรือใช้งบประมาณไม่ทันในแต่ละปีงบประมาณก็ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดเป็นผู้พิจารณาเช่นกัน ไม่ใช่การรวบอำนาจอนุมัติใช้จ่ายมาที่ส่วนกลางแบบในอดีตอีกต่อไป
    สรุปท้ายที่สุดนี้ผมมีความคิดเห็นว่าการจัดการศึกษาของประเทศไทยปัจจุบันนี้เรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ ๆ (New Threats) โดยเฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น AI หรือ ChatGPT ล้วนมีผลให้เกิดวิถีปกติใหม่ (New Normal) ในการบริหารการศึกษา ตลอดจนการจัดการเรียนการสอนในทุกระดับการศึกษาของประเทศ ซึ่งการเผชิญกับภัยคุกคามแบบใหม่ ๆ ที่ว่ามานี้เราต้องมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ (New Strategies) ที่พร้อมจะรับมือกับภัยคุกคามแบบใหม่ ๆ เช่นกัน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ใช้มานานกว่า ๒๔ ปีสมควรที่จะต้องปรับเปลี่ยนแล้ว และหากการปรับเปลี่ยนใหม่ ๆ ที่มีช่องทางสามารถกระทำได้ด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงประกาศ หรือข้อบังคับของกระทรวงศึกษาธิการ ก็สมควรจะรีบดำเนินการแม้ว่ายังใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ฉบับเดิมอยู่ ผมว่ามีช่องทางทำได้เสมอหากคิดจะทำ อย่าปล่อยให้เยาวชนไทยเสียโอกาสที่จะได้รับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่มีต้นเหตุมาจากการแก่งแย่งอำนาจบริหารหรือตำแหน่งหน้าที่หรือการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้บริหาร คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในอดีตเคยอยู่แนวหน้าของกลุ่มประเทศอาเซียน ๑๐ ประเทศ แต่ปัจจุบันนี้คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยอยู่อันดับที่ใกล้รั้งท้ายแล้วครับ ไม่ต้องกล่าวถึงเวียตนามที่ติดอันดับโลกในการสอบ PISA ไปหลายปีแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงสมรรถนะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลของโลกไปแล้ว เยาวชนไทยก็อยู่รั้งท้ายตลอดเสมอมา แล้วเราจะสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับเยาวชนไทยในอนาคตได้อย่างไรหากยังคิดแบบเดิม ๆ ยึดติดอยู่กับกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม ความหวังยังมีเสมอสำหรับคนที่ยังไม่สิ้นหวังท่านต้องเปลี่ยนก่อนที่จะถูกเปลี่ยนครับ